0

“เจาะตลาดเกม! อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้เหล่าเกมเมอร์ตัดสินใจเติมเกม?”

4 กุมภาพันธ์ 2021

สงสัยกันไหมว่าทำไมเกมออนไลน์ที่เปิดให้เล่นกันฟรีแทบทุกเกม ไม่ว่าจะเป็น ROV, LOL, Genshin Impact, Audition, PB (2 เกมหลังนี่วัดอายุเหมือนกันนะคะ อิอิ) หรือจะเป็นเกม Puzzle แสนคลาสสิกอย่าง Candy Crush เนี่ย ถึงมีเกมเมอร์ยอมทุ่มทุนในการเติมเงินเพื่ออัพเวลหรือเพื่อได้ไอเทมของตัวละครที่เล่นเหมือนกัน อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เหล่าบรรดาเกมเมอร์เหล่านี้ตัดสินใจซื้อ วันนี้เรามาสรุปปัจจัยการเติมเกมของเหล่าเกมเมอร์มาให้ดูแล้ว รับรองว่าเป็นประโยชน์กับคนทำงานสายเกมและผู้พัฒนาเกมแน่นอนค่ะ

ก่อนอื่นขอแบ่งปัจจัยในเติมเกมออกเป็น 3 หัวข้อหลักก่อนเลยนะคะ

เติมเพื่อซื้อชุดตัวละคร: เกมเมอร์หลายคนยินดีที่จะจ่ายเงินเติมเกมเพื่อให้ได้เห็นตัวละครของตัวเองมีชุดสวยงาม โดดเด่นกว่าผู้เล่นอื่น ในเกมและโดยส่วนมากจะเห็นในเกมประเภท MOBA (Multiplayer online battle arena) อย่าง LoL, Rov, Wild Rift, Super War เป็นต้น และชุดในเกมเหล่านี้มักจะซื้อด้วยสกุลเงินที่สะสมจากการเล่นเองเรื่อยๆ ไม่ได้
จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมการตัดสินใจซื้อของกลุ่มคนเหล่านี้มักจะเกิดจากความต้องการส่วนตัวที่จะได้เล่นเกมด้วยตัวละครกับชุดหรือรูปร่างที่สวยกว่าปกติทั่วไป เพราะที่จริงแล้วการเติมเกมเพื่อซื้อชุดตัวละครหรือที่เรียกว่า Skin นั้นไม่ได้ทำให้เล่นเก่งขึ้น

เติมเพื่อซื้อตัวละคร: จริงๆ ก็คล้ายกันกับเหตุผลในข้อแรก แต่ในกรณีนี้คืออยากได้ตัวละคร ณ ขณะนั้น ไม่อยากเก็บเงินฟรีที่แจกในเกมหรือตามกิจกรรมต่างๆ ของเกมแล้ว ใช้เงินจริงซื้อเลยเร็วกว่า และจะมีบางตัวละครที่ใช้เงินสกุลที่แจกฟรีในเกมซื้อไม่ได้และมักเป็นตัวละครที่เก่ง เท่ มีคุณสมบัติพิเศษกว่าตัวละครอื่น ก็ทำให้เหล่าเกมเมอร์ตัดสินใจที่จะเติมเงินเพื่อซื้อตัวละครเช่นเดียวกัน จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมตัดสินใจซื้อนั้นเกิดมาจากความใจร้อนไม่อยากรอคอยการเก็บเงินสกุลฟรี รวมถึงความอยากเก่งกาจเหนือผู้เล่นอื่นโดยแก้ปัญหาด้วยการซื้อตัวละครที่มีทักษะพิเศษ (Buff) เหนือตัวละครที่แจกฟรีนั่นเอง

เติมเพื่อซื้อ Items: เพื่อช่วยให้ผ่านด่านหรือความเก่งที่เพิ่มมากขึ้น ในเกมบางเกมที่เป็นลักษณะของการมีด่านอุปสรรคต่างให้ผ่านด่านอย่างเช่น Cookie Run หรือ Candy Crush ก็จะมี Items พิเศษที่จะช่วยให้ผู้เล่นผ่านด่านได้ง่ายขึ้นและก็มีเกมเมอร์จำนวนไม่น้อยที่ยอมจ่ายเงินเพื่อ Items เหล่านี้ รวมถึงเกมแนว FPS (First Person Shooter) อย่าง Special force (SF) หรือ Point Blank (PB) ก็มีการขายอาวุธที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าและต้องใช้เงินในการเติมเช่นกัน จากส่วนนี้จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมการตัดสินใจซื้อเกิดมาจากความไม่อยากทนต่ออุปสรรคหรือความยากของด่านนั้นๆ จึงจำเป็นที่จะต้องซื้อ Items เพื่อช่วยให้ผ่านไปได้โดยเร็วหรือในกรณีที่เติมเงินเพื่อซื้ออาวุธก็เพื่อที่จะทำให้ได้อาวุธที่ดีขึ้นกว่าอาวุธตั้งต้นที่แจกฟรีในเกมซึ่งแน่นอนว่าอาวุธที่ดีกว่าย่อมนำมาซึ่งชัยชนะที่ง่ายกว่านั่นเอง

เกมบางเกมนั้นมีระบบที่เรียกว่า Loot Box (ลู๊ตบ๊อกซ์) หรือที่เกมเมอร์ชาวไทยจะรู้จักกันในชื่อ ‘กาชา’ (Gasha) ก็คือระบบสุ่มซึ่งผู้เล่นนั้นจะได้ Item ต่างๆ ในเกมด้วยการสุ่มเท่านั้น ดังนั้นจึงเป็นการเพิ่มความลุ้นในการได้ของหายากหรือ ‘Rare Item’ ของผู้เล่น และเป็นการเพิ่มโอกาสในการเติมเกมขึ้นไปอีก ซึ่งจะเห็นได้ว่าพฤติกรรมการตัดสินใจซื้อลู๊ตบ๊อกนั้นเกิดจากสิ่งล่อใจที่กระตุ้นความอยากได้ของผู้เล่น โดยสิ่งล่อใจนี้มักประกอบด้วยตัวละครที่มีความสามารถสูงหรือมีความน่ารัก, Item ที่จะทำให้ผู้เล่นเก่งขึ้น และชุดตัวละครที่ทำให้ผู้เล่นได้ชุดแปลกใหม่ไปจากผู้เล่นคนอื่นๆ นั่นเอง

📌 สรุปปัจจัยและเหตุผล ของเกมเมอร์ที่เลือกที่จะเติมเกมนั้น หลักๆ เลยก็คือต้องการให้ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ เช่น ชุดที่สวยขึ้น, อาวุธที่ดีขึ้น, Item ช่วยเหลือเพื่อผ่านด่าน หรือจะเป็นการสุ่ม Loot Box อย่างที่ได้บอกไปนี่เป็นเพียงปัจจัยบางส่วนเท่านั้น ที่เราหยิบยกมาวิเคราะห์ให้ดูเป็นตัวอย่าง ยังมีปัจจัยและส่วนประประกอบอีกหลายอย่างที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อเช่นกัน เช่น เพื่อนๆของเราที่เล่นเกมเดียวกัน, คู่แข่งที่เราเข้าไปเล่นเกมต่อสู้กับเขาในเกม (แต่ในชีวิตจริงไม่ได้ต่อสู้กันน้า) เป็นต้น

แต่สิ่งที่สำคัญและที่เห็นได้ชัดที่สุดคือนักการตลาดต้องร่วมมือกับฝ่ายพัฒนาเกมเพื่อหา Insight บางอย่างของเกมเมอร์ และนำไปปรับใช้กับการออกแบบองค์ประกอบภายในเกมให้ดึงดูดการเติมเกมมากขึ้น เช่น ด่านที่ยากขึ้นหรือชุดที่สวยงาม เท่ ตรงกับความต้องการของเกมเมอร์โดยอ้างอิงจาก insight ที่เจอ

แต่ก็มีข้อควรระวังเช่นกันนะคะ คือไม่ควรออกแบบให้สนับสนุนการเติมเกมแบบสุดโต่งเพราะอาจทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นเกมที่ต้องจ่ายเงินเท่านั้นถึงจะชนะ (Pay to Win) โดยประเด็นนี้อาจจะทำให้เกมเมอร์ไม่อยากเติมเงินเพราะจะทำให้โดนดูถูกว่าไม่ต้องมีฝีมือแค่มีเงินก็เก่งได้ และจะส่งผลเชิงลบต่อภาพลักษณ์ตัวเกมเช่นกัน

เป็นยังไงกันบ้างคะกับเหตุผลที่ทำให้เหล่าเกมเมอร์อร์หลายคนเปลี่ยนจาก ‘สายฟรี’ สู่สายเปย์ แล้วชาวเกมเมอร์คิดว่ามีเหตุผลอะไรอีกไหมคะที่ทำให้เติมเกมกัน และสำหรับใครที่อยากรู้เกี่ยวกับการตลาดเพิ่มเติมด้านไหน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเครื่องมือทางการตลาด, Trend หรือ Case Study อะไรที่น่าสนใจและอยากให้พี่มิ้นวิเคราะห์ให้ฟัง

ก็สามารถ Inbox มาทาง Facebook Fanpage: Mintedacademy ได้ที่ Link: https://www.facebook.com/mintedacademy นี้เลยนะคะ

.

#MintedAcademy #การวิเคราะห์คู่แข่ง #Competitoranalysis #Netflix #Marketingindailylife