0

3 ซีรีส์ Netflix ที่ได้ความรู้เรื่องการตลาด

4 มีนาคม 2021

วันนี้เราจะมาวิเคราะห์และสรุปให้อ่านกันว่า 3 ซีรีส์ Netflix ที่เราหยิบยกมาวิเคราะห์กันนี้ ในแต่ละเรื่องนั้นมีการสอดแทรกเนื้อเรื่องที่สอนให้เห็นถึงปัญหาของการทำธุรกิจ, แนวทางการแก้ไขปัญหาของตัวละคร และมีสอนการทำการตลาดไว้อย่างไรบ้าง ไปติดตามกันเลย

เรื่องแรก: 🎬 Itaewon Class

เรื่องราวของ ‘พัคแซรอย’ (พัคซอจุน) เด็กหนุ่มที่ทำธุรกิจร้านอาหารในย่านอิแทวอนโดยที่มีความรู้เรื่องการทำธุรกิจร้านอาหารแทบจะเป็นศูนย์แต่ก็ได้เพื่อนร่วมทีมเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ จนเขารอดมาได้หลายครั้ง ส่วนเรื่องราวจะลงเอยยังไงนั้นไปติดตามได้ใน Netflix กันได้เลย

ซีนที่เราเห็นปัญหาได้ชัดๆ มีอยู่ 2 ซีน คือซีนที่เกิดขึ้นบริเวณร้านของพัคแซรอย
📌 ซีนแรกเป็นซีนที่พัคแซรอยได้ไปเปิดร้านในย่านอิแทวอนและไม่มีคนมาใช้บริการเลย
📍 ปัญหาที่พบคือ: ไม่มีลูกค้ามาใช้บริการในย่านนั้นเลยซึ่งก็ทำให้ร้านของเขาขายไม่ได้
📍 แนวทางคิดและวิธีแก้ไขปัญหาคือ: การใช้กลยุทธ์ Lift-up The Whole Market Strategy โดยเข้าไปช่วยฟื้นฟูและซ่อมแซมร้านค้าบริเวณนั้นเพราะถ้าบริเวณโดยรอบอยู่ได้เราก็อยู่ได้จุดนี้เองคือการคิดเพื่อคนอื่นและจะนำผลดีมาสู่ธุรกิจตัวเองอีกด้วย

📌อีกซีนหนึ่งคือซีนการพบกันของพัคแซรอยและเน็ตไอดอลสาวโชอีซอ (คิมดามี) ในร้านของเขาที่ไม่มีลูกค้าเลยเช่นกัน
📍 ปัญหาที่พบคือ: ไม่มีลูกค้าเข้าร้านเพราะเป็นร้านเปิดใหม่ที่ไม่มีใครรู้จัก
📍 แนวทางคิดและวิธีแก้ไขปัญหาคือ: การทำการตลาดด้วย Influencer หรือ Influencer Marketing โดยโชอีซอถ่ายรูปและ โปรโมทลงใน Social Media ขอตัวเองทำให้ผู้ติดตามของเธอเห็นและแชร์ต่อไปเป็นวงกว้างและทำให้คนมาใช้บริการที่ร้านของพัคแซรอยมากขึ้น จากซีนนี้จะเห็นได้ว่า Influencer Marketing มีอิทธิพลอย่างมากในปัจจุบันโดยสังเกตได้ว่าร้านของพัคซอจุนที่เปิดในช่วงแรก ไม่มีลูกค้าเลยเพราะเป็นร้านใหม่ที่ยังไม่มีใครรู้จัก แต่เมื่อได้ Influencer อย่างโชอีซอมาช่วยโปรโมทให้ก็ทำให้ขายดีขึ้นมาทันตา

เรื่องที่สอง: 🎬 Start-Up

Start-Up เป็นเรื่องราวของซอดัลมี (แบซูจี) และวอลอินแจ (คังฮันนา) สาวน้อยที่อยู่กับย่าที่ฐานะปานกลางมาตั้งแต่เด็กเพราะพ่อแม่แยกทางกันและสุดท้ายซอดัลมีและวอลอินแจก็มีชีวิตที่แตกต่างกันเพราะวอลอินแจได้ย้ายไปอยู่กับพ่อบุญธรรมที่รวยกว่าซึ่งแน่นอนว่าความคิดในด้านต่างๆ รวมถึงการทำธุรกิจก็ต่างออกไปเช่นกันโดยเรื่องราวจะเป็นยังไงต่อก็สามารถไปติดตามได้ใน Netflix กันได้เลย

ซีนที่เราเห็นปัญหาได้คือซีนของพ่อซอดัลมีที่ไปนำเสนอขายแผนธุรกิจ
📌 ซีนนี้คือซีนที่พอของซอดัลมีไปขายแผนธุรกิจและโดนถามว่าแผนธุรกิจนี้สามารถทำกำไรได้ตั้งแต่ช่วงแรกเลยหรือไม่
📍 ปัญหาที่พบคือ: ผู้ลงทุนคาดหวังว่าแผนธุรกิจจะสร้างกำไรได้เลยตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น
📍 แนวทางคิดและวิธีแก้ไขปัญหาคือ: พ่อของซอดัลมีอธิบายให้ผู้ลงทุนฟังว่าควรสร้างและขยายฐานลูกค้าก่อนหากำไรเปรียบเสมือนเราอยู่กลางมหาสมุทรแล้วไม่ดิ้นรนดื่มน้ำทะเลเพราะไม่งั้นเราจะตายได้ในภายหลังนั่นเอง ซึ่งก็ควรเป็นอย่างนั้นเพราะหากธุรกิจมุ่งแต่จะทำกำไรโดยที่ไม่รู้ว่าฐานลูกค้าจริงๆ เป็นใครอาจทำให้ไม่รู้ว่าต้องขายสินค้าให้ใครจริงๆ ซึ่งจะทำให้ทิศทางการทำการตลาดหรือการดำเนินการในส่วนอื่นไม่เป็นระบบและทำให้ธุรกิจนั้นพัฒนาต่อไปได้ยาก

เรื่องที่สาม: 🎬 Sky Castle

Sky Castle เป็นเรื่องราวของครอบครัวชนชั้นสูงในสังคมเกาหลีที่ภรรยามีความทะเยอทะยานในการผลักดันให้สามีและลูกของตนเองขึ้นสู่จุดสูงสุดของสังคมโดยไม่สนวิธีการและนำไปสู่จุดจบที่เกินคาดเดา

หลายคนอาจสงสัยว่าซีรีส์ดราม่าแนวนี้จะมีเรื่องการตลาดสอดแทรกได้อย่างไร
โดยซีนที่แสดงให้เห็นเรื่องการตลาดมี 2 ซีนที่น่าสนใจมากโดยเกี่ยวกับโค้ชคิม (คิมซอฮยอน)
📌 ซีนนี้คือซีนที่ฮันซอจิน (ยัมจุงอา) ตัวเอกของเรื่องได้ข้อมูลของโค้ชคิมและหาทางไปพบให้ได้เพราะเป็นโค้ชที่การันตีว่าจะติวให้นักเรียนสอบติดคณะแพทย์ มหาวิทยาลัยโซลแน่นอนแต่รับติวแค่ปีละคนเท่านั้น
📍 เราเห็นการตลาดอะไรจากซีนนี้: การที่โค้ชคิมทำให้คนเข้าถึงยากแบบนี้มีการอธิบายเชิงการตลาดได้ด้วยหลักการ Scarcity Marketing โดยการทำให้เห็นว่ายิ่งมีน้อยยิ่งมีคุณค่ามากและการตลาดแบบ Scarcity Marketing มักใช้กับสินค้าประเภทพรีเมียม เช่น น้ำหอมหรือเสื้อผ้าราคาแพงที่มักจะออก Limited Edition ตามฤดูกาลเป็นต้น

📌 อีกซีนหนึ่งคือซีนที่ลีเมียงจู (คิมจุงนาน) แม่ของนักเรียนที่สอบเข้าคณะแพทย์ได้บอกกิตติศัพท์ของโค้ชคิมให้แก่ฮันซอจินซึ่งทำให้ฮันซอจินทำทุกทางเพื่อที่จะได้โค้ชคิมมาติวให้ลูกตัวเอง
📍 เราเห็นการตลาดอะไรจากซีนนี้: เหตุผลที่ทำให้ฮันซอจินอยากส่งลูกไปเรียนกับโค้ชคิมขนาดนี้เกิดจากสิ่งที่เรียกว่าการตลาดแบบปากต่อปาก (Word Of Mouth) โดยกิตติศัพท์ของโค้ชคิมนั้นได้รับการบอกต่อในหมู่ผู้ปกครองของชนชั้นสูงในเกาหลีมากดังนั้นนี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ผู้ปกครองอยากส่งลูกไปเรียนกับโค้ชคิมและทำให้ธุรกิจการติวเข้ามหาลัยของโค้ชคิมมีคุณค่าขึ้นไปอีกนั่นเอง

โดยสรุปแล้วเราได้ข้อคิดการทำการตลาดจากซีรีส์เหล่านี้คือ

🎬 Itaewon Class
📌 กลยุทธ์ Lift-Up The Whole Market เป็นสิ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืนเพราะเมื่อสภาพแวดล้อมโดยรอบเอื้อต่อการทำธุรกิจ ธุรกิจนั้นๆ ก็จะดำเนินต่อไปได้
📌 Influencer Marketing เป็นสิ่งที่สร้างการตระหนักรู้ของธุรกิจหรือแบรนด์ (Brand Awareness) ซึ่งจะทำให้ลูกค้ารู้จักแบรนด์ได้เร็วและกว้างขวางขึ้น

🎬 Start-Up
📌 เราไม่ควรทำธุรกิจโดยมองแค่เพียงมุมเดียวคือมุ่งเน้นการหากำไรเท่านั้น แต่ควรให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายและการวางแผนงานในระยะเริ่มต้นเพื่อให้ธุรกิจพัฒนาได้อย่างยั่งยืน

🎬 Sky Castle
📌 สำหรับสินค้าหรือบริการบางอย่างนั้นไม่ควรทำให้เข้าถึงได้ง่ายเกินไปเพราะอาจทำให้ดูเป็นของธรรมดา ควรลดจำนวนลงแล้วเพิ่มคุณภาพให้มากเท่าที่จะทำได้เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดแก่ลูกค้าพร้อมทั้งเป็นการสร้างมูลค่าของธุรกิจไปในเวลาเดียวกัน
การตลาดแบบปากต่อปากหรือ Word of mouth เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลกับผู้บริโภคมาก เพราะลูกค้ามีแนวโน้มที่จะเชื่อถือคนใกล้ตัวพูดมากกว่าแบรนด์พูด ดังนั้นควรมีการเพิ่มลูกเล่นหรือกลยุทธ์บางอย่างที่ทำให้เกิดการบอกต่อ เช่น การพัฒนาสินค้าหรือบริการให้มีความแปลกใหม่ เป็นต้น

แล้วทุกคนล่ะครับ เห็นการตลาดอะไรในซีรีส์หรือภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ อีกไหม ลอง มาบอกกันบ้างนะครับ