สำหรับธุรกิจแล้ว การปล่อยให้ลูกค้ารอนาน ถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ เพราะลูกค้ามีตัวเลือกมากมาย และมีความภักดีต่อแบรนด์น้อยลง พร้อมที่จะหันไปหาคู่แข่งของคุณได้ตลอดเวลาเลยครับ อย่างที่ผมเคยเขียนเรื่องนี้ในบทความ จะซื้อรถยนต์ 1 คัน ผู้บริโภคคำนึงถึงอะไรบ้าง? ลองเข้าไปอ่านดูได้นะครับ
ถ้าเป็นหน้าร้าน เราก็คงจะแก้ปัญหาด้วยการคอยรับลูกค้าให้เร็วขึ้น แต่ในยุคดิจิทัลแบบนี้แล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ “เว็บไซต์” ซึ่งเปรียบเสมือนหน้าร้านออนไลน์ของคุณเอง หากเว็บไซต์โหลดช้า มีโอกาสที่จะสูญเสียลูกค้าไปอย่างน่าเสียดาย จากผลสำรวจของ Google พบว่าหากเว็บไซต์ใช้เวลาโหลดนานกว่า 3 วินาที 53% ของผู้เข้าชมจะออกจากเว็บไซต์ (บน Mobile) เรียกได้ว่าลูกค้าของคุณหายไปเกินครึ่งเลยนะครับ ยกเว้นว่า Content ของคุณดีจริงๆ หรือลูกค้าตั้งใจเข้ามาเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง
นั่นยังไม่พอนะครับ จาก 12 Case Study ของบริษัทต่างๆ ยังบอกอีกว่าการโหลดหน้าเว็บทุกๆ 0.1 วินาที จะส่งผลเสียดังนี้…
- มีการเปิดหน้าเว็บต่างๆ น้อยลง 11%
- ลูกค้ารู้สึกไม่พอใจ 16%
- สูญเสีย conversion 7%
เห็นแล้วนะครับ ว่าเพียงแค่เว็บไซต์โหลดช้า ก็ส่งผลเสียต่อธุรกิจได้มากมาย
แต่เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าเว็บไซต์แบบไหนที่เรียกว่าโหลดช้า แบบไหนที่เรียกว่าโหลดเร็ว ซึ่งแต่ละเว็บไซต์มีข้อมูลที่แตกต่างกันอยู่แล้ว บางเว็บไซต์ที่ข้อมูลและฟีเจอร์ภายในเว็บไซต์มีเยอะ ก็ไม่จำเป็นต้องโหลดเร็วภายในเสี้ยววินาทีก็ได้
ดังนั้น Google จึงได้มีเครื่องมือที่ช่วยในการวิเคราะห์และวัดผลการความเร็วของเว็บไซต์มาให้ครับ ซึ่งจะมี 2 แบบ คือ….
- Test My Site (https://www.thinkwithgoogle.com/feature/testmysite/)
- Page Speed Insights (https://developers.google.com/speed/pagespeed/insights/)
มาทำความเข้าใจเครื่องมือทั้ง 2 แบบนี้กันครับ
1.Test My Site
เป็นเครื่องมือที่จะบอกความเร็วของเว็บไซต์ ว่าหากเข้าผ่าน Mobile จะใช้เวลากี่วินาที โดยสามารถวัดได้ทั้งระบบ 3G และ 4G (แนะนำให้ยึด 4G เป็นหลักครับ สมัยนี้ไม่ค่อยมีใครใช้ 3G กันแล้ว) และจะประเมินออกมาว่าเว็บไซต์ของคุณอยู่ในเกณฑ์ใด
Slow | เว็บไซต์โหลดนานเกิน 2.5 วินาที |
Average | เว็บไซต์โหลดไม่เกิน 1 – 2.5 วินาที |
Fast | เว็บไซต์โหลดไม่เกิน 1 วินาที |
ซึ่งเอาจริงๆ แล้ว เว็บไซต์ที่โหลดประมาณ 2-3 วินาที ถือว่าเร็วแล้วนะครับ แทบไม่รู้สึกว่ารอนานเกินไป เว็บไซต์ส่วนมากในปัจจุบันก็มักจะใช้เวลาโหลดนานเกิน 3 วินาทีเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นอยากให้โฟกัสที่วินาทีมากกว่าเกณฑ์ของ Google ให้ยึดผู้ใช้เป็นหลักครับ
เครื่องมือนี้ไม่ได้ใช้เพียงวัดความเร็วเป็นวินาทีเท่านั้น แต่ยังมีความสามารถอื่นด้วย คือ
- เปรียบเทียบความเร็วหน้าต่างๆ ภายในเว็บไซต์ได้
อันนี้สำหรับกรณีแก้ไขความเร็วเว็บไซต์ในแต่ละหน้า แล้วเปรียบเทียบกันครับ
- มี Report ให้สำหรับส่งให้ผู้บริหาร หรือคนในทีมได้เลยทันที
สามารถส่ง Report ให้คนอื่นๆ ดูได้ และเข้าใจง่าย โดยไม่จำเป็นต้องเป็นโปรแกรมเมอร์ครับ
- เปรียบเทียบความเหนือชั้นกับคู่แข่ง
สามารถนำเว็บไซต์คู่แข่งมาเปรียบเทียบความเร็วกับเว็บไซต์ของเราได้ครับ ว่าแตกต่างกันมากแค่ไหน ถ้าลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนไทย ก็ให้เลือก location เป็น Thailand (ในช่องสีแดง)
- สามารถประเมินผลกระทบกับธุรกิจได้ด้วย!
อย่างที่ผมอธิบายไปช่วงต้น ว่าความเร็วของเว็บไซต์ สามารถส่งผลกระทบกับธุรกิจได้ แต่จะมากน้อยแค่ไหนใน Test My Site มีเครื่องมือคำนวณให้เลยครับ
2.Page Speed Insights
เป็นเครื่องมือที่สามารถบอกความเร็วเว็บไซต์ได้ทั้งจากการเข้าผ่าน Mobile และ PC แต่จะไม่บอกอัตราเป็นวินาที จะเป็นผลคะแนน 1-100 แทน ซึ่งถ้าได้คะแนนอยู่ในช่วง 80-90 ก็ถือว่าเร็วพอสมควรแล้วครับ
Page Speed Insights จะเน้นวิเคราะห์หน้าเว็บลึกถึงโค้ดและระบบต่างๆ ในเว็บเลยทีเดียว และบอกเป็นจุดๆ ได้ว่า มีส่วนไหนที่ใช้ใช้ทรัพยากรและเวลาไปมากน้อยแค่ไหน มีส่วนไหนควรแก้ไข เช่น ภาพขนาดใหญ่เกินไป มีลูกเล่นบางอย่างที่ทำให้เว็บไซต์โหลดช้า พร้อมบอกวิธีแก้ไขอย่างละเอียดครับ
เปรียบเทียบ Test My Site vs Page Speed Insights
อะไรดีกว่า?
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนครับว่า เครื่องมือทั้ง 2 แบบ ใช้เกณฑ์เดียวกันในการวัดความเร็วของเว็บไซต์ เพียงบอกผลลัพธ์ในแบบที่แตกต่างกันเท่านั้นเองครับ
- Test My Site เหมาะสำหรับเจ้าของธุรกิจหรือองค์กรมากกว่า เพราะมีเครื่องมือต่างๆ ที่ช่วยวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างความเร็วของเว็บไซต์กับธุรกิจ ไม่มีข้อมูลอะไรที่ซับซ้อนเข้าใจยาก และมี Report ให้ด้วยครับ
- Page Speed Insights เหมาะสำหรับโปรแกรมเมอร์หรือผู้พัฒนาเว็บไซต์มากกว่า เพราะอธิบายถึงสาเหตุต่างๆ ที่เป็นปัจจัยให้เว็บไซต์โหลดช้า พร้อมบอกวิธีแก้ไขอย่างละเอียด
สรุปได้ว่าเครื่องมือทั้ง 2 แบบ สามารถวัดความเร็วเว็บไซต์ได้เหมือนกัน จะใช้เครื่องมืออะไรวัดก็ได้ เพราะใช้เกณฑ์เดียวกัน แต่ที่แตกต่างกันคือฟีเจอร์และการรายงานผลนั่นเองครับ ดังนั้นสามารถเลือกใช้ได้ตามความถนัดและจุดประสงค์ของการวัดความเร็วเว็บไซต์ได้เลย